เกี่ยวกับชุมชน
ชุมชนเกาะกก ที่ตั้ง ซ.เนินพระ 2 ถ.กรอกยายชา ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง เนื่องจากการขยายเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ทำให้หลายหมู่บ้านของตำบลเนินพระขึ้นตรงกับเทศบาลเมืองมาบตาพุด ซึ่งชื่อเดิม คือชุมชนเกาะกก-หนองแตง จากภูมิประเทศและทำเลที่เป็นธรรมชาติ มีทุ่งนาเขียวขจี มีคลองน้ำชลประทานไหลผ่าน ถนนหนทางสะดวก น้ำประปาและไฟฟ้าเข้าถึง ใกล้สถานที่ทำงานเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ผู้คนมีมิตรไมตรีและยังคงหลงเหลือซึ่งวัฒนธรรมและประเพณีของท้องถิ่นรวมถึงอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษ เช่นการทำการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ การทำสวนผลไม้ การประมง ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ทำให้การบริหารจัดการและการดูแลอาจจะไม่ทั่วถึง เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของผู้บริหารชุมชน จึงได้มีการยื่นขอแบ่งแยกชุมชนเกาะกก ออกจากชุมชนหนองแตงเมในปี พ.ศ. /2553 โดยมีนายเจริญ เดชคุ้มพร้อมคณะทำงานและสมาชิกในชุมชน เป็นผู้ดำเนินการยื่นขอแยกชุมชนในสมัย นายกสมพงษ์ โสภณ
จำนวนประชากร
– จำนวนครัวเรือน 447 ครัวเรือน – ประชากรทั้งหมด 1104 คน ชาย= 545 คน หญิง= 559 คน
พื้นที่โดยประมาณ
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ชุมชนคลองน้ำหูและชุมชนหนองบัวแดง ทิศใต้ ติดต่อกับ ชุมชนหนองแตงเม ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เทศบาลตำบลเนินพระ ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ชุมชนตากวน-อ่าวประดู่
การประกอบอาชีพ
ประชากรมีกลุ่มอาชีพต่างๆจากการส่งเสริมอาชีพในชุมชนมากมายหลายกลุ่ม เช่นกลุ่มเกษตรพอเพียง กลุ่มทำสมุนไพรอบลูกประคบ การถักกระเป๋าสตรี เย็บผ้า เลี้ยงสัตว์ อาชีพส่วนตัว เช่น ค้าขาย ทำการเกษตร ปลูกพืชผักสวนครัว อนุรักษ์ประเพณีลงแขกดำนาและเกี่ยวข้าว ปัจจุบันส่วนเป็นลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมและบริษัทต่าง ๆ
การศึกษา
ในเขตใกล้เคียงของชุมชนเกาะกก มีสถานศึกษาในระดับ ประถมศึกษาอยู่หลายสถานศึกษา เช่น โรงเรียนวัดกรอกยายชา โรงเรียนวัดโขดหิน โรงเรียนวัดตากวน และระดับมัธยมศึกษาได้แก่โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร
ศาสนา
คนในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ไม่มีวัดตั้งอยู่ในเขตของชุมชน แต่มีในชุมชนใกล้เคียง คือ วัดกรอกยายชา วัดตากวน วัดโขดหิน
ประเพณี
ชุมชนเกาะกก ให้ความสำคัญในการจัดงานประเพณีต่าง ๆ เช่น ประเพณีวันขึ้นปีใหม่, ประเพณีวันสงกรานต์และวันผู้สูงอายุ, วันแรงงาน, วันพ่อแห่งชาติ, วันแม่แห่งชาติ, ประเพณีลอยกระทง ประเพณีเผาข้าวหลามและทำบุญข้าวใหม่ เป็นการร่วมใจสร้างกิจกรรมสร้างความรักความสามัคคีให้กับคนในชุมชน ประเพณีเหล่านี้ปฏิบัติสืบทอดมาเป็นเวลาช้านานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
สาธารณสุข
ชุมชนเกาะกก มีศูนย์สาธารณสุขเกาะกก ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนเกาะกก ชาวบ้านในชุมชนและบริเวณใกล้เคียงสามารถเข้ารับบริการได้ตามสะดวก
ห้องสมุดชุมชน
ชุมชนเกาะกกมีห้องสมุดประจำชุมชน ชึ่งสนับสนุนให้คนในชุมชนรักการอ่าน มีแหล่งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ทันสมัย ทันเหตุการณ์ สามารถหยิบยืมได้ตามสะดวก
สนามกีฬา
ชุมชนเกาะกกมีลานกีฬาและเครื่องออกกำลังกายสำหรับ เด็กและผู้ใหญ่เพื่อให้สมาชิกในชุมชนได้ใช้ออกกำลังกายยามว่าง เพื่อเสริมสร้างสุขภาพพลานามัยที่ดี เป็นที่พบปะสร้างสรรค์สร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในชุมชน
สาธารณูปโภค
ไฟฟ้า ทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้กันอย่างทั่วถึงและเพียงพอ
ประปา การประปาในชุมชนใช้น้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค ส่วนการเกษตรใช้จากแหล่งต่างๆ เช่น น้ำบ่อ น้ำบาดาลและน้ำจากคลองชลประทาน
ถนน ภายในชุมชนมีถนนคอนกรีตและถนนราดยางทั่วทั้งชุมชน ถนนสายหลักที่ชาวชุมชนใช้ในการสัญจรไปมา ได้แก่ ถนนตากวน-กรอกยายชา, ถนนเนินพระ 2 , ถนนคลองน้ำหู และถนนซอยแหลมพยอมเป็นต้น
การกำจัดขยะมูลฝอย มีรถจัดเก็บขยะของหน่วยงานเทศบาลเมืองมาบตาพุดดำเนินการนำขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ไปดำเนินการกำจัดตามขั้นตอน ส่วนขยะเน่าเสียจากครัวเรือน เช่นเศษอาหาร กิ่งไม้ ใบไม้และขยะย่อยสลายได้อื่นๆ ชุมชนมีการรณรงค์คัดแยกขยะอย่างจริงจังและจัดเก็บเองโดยนำไปเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น หมู เป้ด ไก่ ปลา ใช้ทำเป็นปุ๋ยหมัก และปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพใช้ในแปลงเกษตรของชุมชน
การรักษาความปลอดภัย ชุมชนได้ทำการรับสมัครอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอาสาประจำชุมชน เพื่อคอยตรวจตราและรักษาความปลอดภัยให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของคนในชุมชน โดยจัดงบประมาณให้ในการบริหารจัดการ
ข้อมูลและองค์ประกอบอื่น ๆของชุมชน
1 ชุมชนเกาะกก มีคณะกรรมการบริหารชุมชนที่ได้รับการเลือกตั้งจากคนในชุมชนจำนวน 9 คน และที่ปรึกษาชุมชนอีกจำนวน 4 คน มีวาระ 4 ปี มีหน้าที่บริหารจัดการชุมชนในด้านต่างๆ เช่น การบริหารงบประมาณและพัฒนาโครงการต่างๆ การพัฒนาส่งเสริมอาชีพบางส่วน การรับเรื่องร้องทุกข์ต่างๆ การส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างความรักความสามัคคีให้กับคนในชุมชน การแก้ปัญหาขยะ ปัญหาโจรผู้ร้าย รวมถึงการเฝ้าระวังเหตุร้ายต่างและรวมถึงเป็นผู้ควบคุมดูแลแผนฉุกเฉินชุมชนในกรณีเกิดภัยพิบัติต่างๆ
2 กองทุนหมู่บ้านชุมชนเกาะกก มีคณะกรรมการบริหารกองทุนจำนวน 9 คน มีวาระ 2 ปี มีหน้าที่บริหารจัดการเรื่องการออมเงินและให้กูยืมเงินเพื่อการประกอบอาชีพ
3 วิสาหกิจชุมชน มีคณะกรรมการจำนวน 10 คน ไม่มีวาระ มีหน้าที่ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาอาชีพและด้านการตลาดให้กับคนในชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มอาชีพที่ได้รับการส่งเสริมแล้วจำนวน 12 กลุ่ม และสามารถผลิตสินค้าชุมชนออกจำหน่ายในตลาดระดับประเทศได้หลายชนิด
4 คณะกรรมการอาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้าน มีคณะกรรมการจำนวน 7 คน ที่ปรึกษาอีก 1 คน ไม่มีวาระ มีหน้าที่รณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและตรวจสุขภาพให้กับสมาชิกในชุมชน
5 คณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า(คพรต.) มีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งจากสมาชิกในชุมชนจำนวน 1 คน มีวาระ 2 ปี ทำหน้าที่เสนอโครงการจากเวทีประชาคมในชุมชน เพื่อขอรับเงินสนับสนุนเพื่อใช้พัฒนาชุมชนผ่านโครงการต่างๆ